การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

1.องค์ประกอบเกี่ยวกับประสบการณ์ภาคสนาม (การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู)

     การฝึกภาคสนามเป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามเกณฑ์การรับรองทางการศึกษาที่กำหนดไว้ในมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ แบ่งออกเป็นการฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน และการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลา 1 ปีภายใต้การนิเทศร่วมกันระหว่างคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีกับสถานศึกษา โดยเน้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู ได้แก่ การปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน การพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติการสอน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนการวิจัยในชั้นเรียน การบริการของโรงเรียน การทำงานร่วมกับชุมชน และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ให้จัดการเรียนการสอนด้วยกิจกรรมการปฐมนิเทศนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติ   การสอนในสถานศึกษาจัดประชุมเตรียมความพร้อมอาจารย์นิเทศของมหาวิทยาลัย ครูพี่เลี้ยงและผู้บริหารโรงเรียน ก่อนที่นักศึกษาจะปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาและในระหว่างการไปปฏิบัติ การสอนในสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจัดให้นักศึกษาได้มีการสังเกตการสอนแบบมีส่วนร่วมเรียนรู้งานจากอาจารย์นิเทศประจำโรงเรียน ปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยในชั้นเรียน การพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การบริการของโรงเรียน  การทำงานร่วมกับชุมชน และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายการจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้สื่อการเรียนการสอนโดยได้รับคำแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจจากอาจารย์นิเทศประจำหลักสูตร อาจารย์นิเทศประจำโรงเรียนหรือครูพี่เลี้ยง และผู้บริหารโรงเรียนอีกทั้งจัดให้มีการสัมมนาระหว่างการปฏิบัติ การสอน การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลแก่นักศึกษาและจัดให้มีการสัมมนาหลังปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเพื่อสรุปผลการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ไปสู่การสร้างความเป็นครูมืออาชีพและนำเสนอผลงานในรูปของนิทรรศการและการนำเสนอด้วยวาจา

     1.1   มาตรฐานผลการเรียนรู้ของประสบการณ์ภาคสนาม

              1.1  ด้านคุณธรรม จริยธรรมมีบุคลิกภาพ คุณลักษณะเหมาะสมกับอาชีพ มีอุดมการณ์ มีวินัย มีความรับผิดชอบต่อวิชาการ วิชาชีพ และประพฤติตนอยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพครู

              1.2 ด้านความรู้มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ โดยสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับมีความรู้ในการจัดทำแผนการเรียนรู้ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามลักษณะเฉพาะศาสตร์ได้ สามารถประเมินปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนมีความสามารถในการมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษามีสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพต่อผู้เรียน

               1.3  ด้านทักษะทางปัญญา มีความสามารถแยกแยะผู้เรียนได้ตามความแตกต่างและเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่และบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการเรียนรู้ สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาในชั้นเรียนและพัฒนางานด้วยกระบวนการวิจัยสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างสร้างสรรค์

             1.4  ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบมีความสามารถใน การทำงานร่วมกับบุคลากรอื่นในวิชาชีพครูและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับกลุ่มบุคคลต่างวัฒนธรรม รวมถึงทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้ปกครองและคนในชุมชนได้

             1.5  ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาถิ่นในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ทดลองวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการสอนที่สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและทันสมัย

              1.6 ด้านวิธีวิทยาการจัดการเรียนรู้ มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในสาขาวิชา พร้อมกับสร้างบรรยากาศและจัดสภาพแวดล้อม สื่อที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สามารถประเมินปรับปรุงและพัฒนาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน รวมถึงสามารถจัดทำรายงานผลการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

 

ช่วงเวลาการฝึกภาคสนาม

ครั้งที่ 1 การฝึกปฏิบัติวิชาชีพ ภาคเรียนที่ 1 ในชั้นปีที่ 1  ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง (ประมาณ 1-2 สัปดาห์)

ครั้งที่ 2 การฝึกปฏิบัติวิชาชีพ ภาคเรียนที่ 1 ในชั้นปีที่ 2  ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง (ประมาณ 1-2 สัปดาห์)

ครั้งที่ 3 การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 1 ภาคเรียนที่ 1 ชั้นปีที่ 4 (ตลอดทั้งภาคเรียน)

ครั้งที่ 4 การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 2 ภาคเรียนที่ 2 ชั้นปีที่ 4 (ตลอดทั้งภาคเรียน)